
ประกิต หลิมสกุล
‘กิเลน ประลองเชิง’ พูดด้วยหัวใจ ไม่ใช่สำนวน
ค่อนชีวิต ครึ่งศตวรรษบนเส้นทางนักข่าว
นี่ไม่ใช่บทสัมภาษณ์ที่ตั้งใจเผยแพร่เนื่องในวันนักข่าว หรือวันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ 5 มีนาคม ซึ่งปักหมุดบนปฏิทินโดยสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย
แม้หนังสือพิมพ์ฉบับวันนี้มีข้อความบนหัวกระดาษฝั่งขวาว่า วันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม พุทธศักราช 2566
บทสนทนาที่จะได้อ่านต่อไปนี้ เกิดขึ้นในบ่ายวันหนึ่งซึ่งไม่ได้ถูกวางแผนล่วงหน้าว่าจะตีพิมพ์พอดิบพอดีในวันนี้ บางคำถามที่ควรถาม จึงไม่ถูกถาม
“ทักได้ ดุได้ ถ้าเลอะเทอะ เป็นพวกปากไว ใจตรง ไม่ซับซ้อน ไม่มีฟอร์ม”
ประกิต หลิมสกุล เจ้าของนามปากกา ‘กิเลน ประลองเชิง’ แห่งคอลัมน์ ‘ชักธงรบ’ และอีกหลากหลายชื่อเสียงเรียงนามจนนับนิ้วแทบไม่หมดบนหน้าหนังสือพิมพ์ กล่าวอย่างตรงไปตรงมาในวันนั้น ก่อนกระซิบดังๆ ด้วยว่า
“เวลาคุย ถ้าโม้ แอ๊กชั่นมันลื่น”
ในบรรยากาศกลาง ‘ศูนย์ข้อมูลไทยรัฐ’ อันรายล้อมด้วยประวัติศาสตร์บนหน้ากระดาษของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่
‘รุ่นพี่’ วัย 78 ของวงการนักข่าวที่ยืนยันว่าสุขภาพ ‘ยังอยู่ดี’ แม้น้ำตาลโด่งขึ้นบ้าง แต่คุมหวานคุมมันได้เป๊ะตลอด 20 ปี
แทนตัวเองว่า ‘พี่’ ทุกคำ ตอบคำถามพื้นฐานที่เข้าข่ายจืดชืด ด้วยคำตอบเข้มข้นจนต้องเซ็นเซอร์ด้วยความเสียดายในหลายช่วงหลายตอน
“บอกความลับ เห็นโม้อย่างนี้นะ เชื่อไหมว่าไม่อ่านเรื่องที่เขียนถึงตัวเองเลยแม้แต่เรื่องเดียว เบื่อ แม้กระทั่งที่เธอจะสัมภาษณ์ มันเอียนตัวเอง ตลอดชีวิตเคยแต่สัมภาษณ์คนอื่น”
ตลอดชีวิตที่ว่านี้ คงเริ่มจากเข็มนาฬิกาในเดือนธันวาคม พ.ศ.2513 หรือเมื่อ 53 ปีที่แล้ว
“เป็นนักข่าวตั้งแต่ธันวาคม ปี 2513 ที่ยะลา ป่านนี้ยังไม่หลุดเลย ตอนยังเป็นนักข่าวเด็กๆ ช้าง (ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ) เป็นไอดอลแล้ว
รุ่นเก่าเนี่ย เขียนด้วย ถ่ายรูปด้วย ตอนอยู่ยะลาเข้าห้องสมุด อ่านตำราการประพันธ์เบื้องต้นของอาจารย์เปลื้อง ณ นคร พอมาถ่ายรูปต้องซื้อตำราอาจารย์สนั่น ปัทมะทิน ดูเบสิกเรียนรู้…แฟลชดับ ทำอย่างไร ก็เปิดหน้ากล้องกว้างหน่อย ไฟดวงเดียว ขึ้นหน้า 1 ได้”
ครั้นเข้ากรุง เข้าสังกัดหนังสือพิมพ์หลายหัวหลายค่ายหลายสำนัก มากกว่า 5 ฉบับ ก่อนกลับสู่อ้อมกอดไทยรัฐ
ผ่านหลากห้วงอารมณ์ในวิชาชีพที่เจ้าตัวคัดสรรคำหลากหลายมาอรรถาธิบายความรู้สึก ตั้งแต่น้อยใจเล็กๆ จนถึงน้อยเนื้อต่ำใจเมื่อถูกย้ายคอลัมน์จากหน้าเด่นสุดปังไปอยู่ ‘หน้าใน’ บ้าง และสถานการณ์อื่นๆ บ้าง
รับว่ามีช่วงเวลา ‘เลือดร้อน-ผยอง-จองหอง’ ซึ่งเป็นนิยามที่นักหนังสือพิมพ์ผู้นี้เลือกใช้ด้วยตัวเองเมื่อย้อนเล่าถึงวีรกรรมครั้งเก่า แม้อย่างนั้น ก็ห่างไกลจากคำว่า ‘กร่าง’ ในทางตรงกันข้าม กลับย้ำให้เห็นความสำคัญของการอ่อนน้อมถ่อมตน
“เราขยัน เก่ง ซื่อไว้ ดีไว้ ไม่เรียกค่าตัว อยู่ได้ ไม่ตกงาน”
ด้วยความสามารถโดดเด่น พร้อม ‘บู๊’ ทุกสมรภูมิข่าว และสกู๊ปมันส์ๆ จากเหนือจรดใต้ ก่อเกิดวาทะเข้าหูจากนักข่าวสำนักอื่นในช่วงหนึ่งเมื่อครั้งสังกัด นสพ.หัวสีชมพูว่า
“ระวังไอ้ประกิต เดลินิวส์” เล่าไปขำไป ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่กับอดีตวัยหนุ่ม โดยระบุไทม์ไลน์ให้ด้วยว่า เป็นช่วงเวลาที่ ‘ประชาชาติ’ กำลังสร้างชื่อ
ถามถึงประสบการณ์ทำข่าวที่ฝังแน่นในความทรงจำ ได้คำตอบว่า ‘ปฏิวัติลาว 2518’ คือเหตุการณ์ที่ ‘อยู่ในใจพี่ตลอด’
สะพายกล้องลุยเวียงจันทน์เพียงลำพัง นั่งแท็กซี่ 150 บาทไทย กลับมาส่งข่าวขึ้นหน้า 1 บายไลน์ นามปากกา ประกิต ปวรากุล รุ่งขึ้นหลากสื่อใหญ่ตกข่าว ในยุคที่ ‘วัดกันหน้าแผง’ ยังไม่มีกรุ๊ปไลน์ให้พูลข่าว ยังไม่มีเว็บไซต์ให้รูดปรื๊ด ยังไม่มีคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ยังไม่มีเซเลบในโลกออนไลน์
คว้ารางวัลมาแล้วมากมาย รวมถึงรางวัล ม.ร.ว.อายุมงคล โสณกุล ประจำปี 2534 โดยรับจากพระหัตถ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน พระธิดาใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
ล่าสุด เมื่อปี 2565 ครองรางวัล ‘ศรีบูรพา’ โดยกองทุนศรีบูรพาร่วมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ในงานวันครบรอบ 117 ปี ชาตกาล กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา
ค่อนชีวิต กว่าครึ่งศตวรรษ ในวงการสื่อ กิเลน ยังโลดแล่นวาดลีลาแบบรายวันอย่างมีชั้นเชิง ในวันที่ค้นประวัติชีวิตได้อย่างง่ายดายเพียงปลายนิ้วบนสมาร์ทโฟน แม้กระทั่งเรื่องราวอันเกรียวกราวของ ‘เด็กหญิงวัลลี’ ที่นักข่าวผู้นี้ตีแผ่เมื่อหลายสิบปีก่อนก็ยังกลับมาปรากฏในโลกออนไลน์ หาใช่เพียงในความทรงจำยุคก่อน Y2K
ยังปรากฏตัวในวงเสวนา 6 ตุลา ณ คินใจ คอนเทมโพรารีท่ามกลางคนรุ่นใหม่ที่ล้มวงฟังนาทีกดชัตเตอร์บันทึกประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัย
“ภูมิใจกับงานที่ทำ ภูมิใจกับจุดยืนที่อยู่กระมัง”
แม้เป็นประโยคลงท้ายด้วยถ้อยคำที่อาจลงท้ายด้วยเครื่องหมายปรัศนีย์ ทว่า สุ้มเสียงหนักแน่น ไม่ลังเลใจในเส้นทางของตัวเอง
⦁53 ปีในอาชีพนักข่าว มีช่วงไฟเจียนมอดบ้างหรือไม่ เฉพาะคอลัมน์ ‘ชักธงรบ’ ก็ 2 ทศวรรษแล้ว
เฮ้ย! ล้าเสมอแหละ เวลามันตัน เฉพาะกิเลน ประลองเชิง 25 ปีแล้วนะ คิดเป็นจำนวนคอลัมน์ เว้นวันอาทิตย์วันเดียว มี 7-8 พัน เกือบหมื่นชิ้น ถามว่าอ่อนล้าไหม…จน
บางครั้งเหมือนปีนหน้าผา ปีนไม่ไหว มันเป็นหน้าเด่น พอเจียนตัว พอจนแล้วทำอย่างไร ก็อ่านหนังสือมันไปเรื่อยๆ ไม่ว่านิทาน ปรัชญา เรื่องจีน สามก๊ก พอมันมีเรื่องคลิกเข้าทาง ก็จับเอามาเขียนกระทบเล็กๆ เรื่องนี้หยอกคนนั้นได้โว้ย เรื่องนั้นด่าคนโน้นได้โว้ย ใครจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจไม่รู้ ก็เอาตัวรอดมาได้จนวันนี้ ด้วยประสบการณ์ ทุกคนเกลียดคำปรามาส คำดูถูก พอปรับมาเป็นแบบนี้ คนถูกด่าไม่น่าจะโกรธเรามาก เดาเอานะ
ตอบคำถามแล้วว่า ล้า แต่บังเอิญเอาตัวรอดได้ดี นี่ใช้คำว่าเอาตัวรอด ไม่ได้ชื่นชมตัวเองเลย คำถามต่อไปมาเลย
⦁การเปลี่ยนผ่านของกระดาษสู่ออนไลน์ในช่วงหลายปีมานี้ กระทบต่อนักหนังสือพิมพ์รุ่นอาวุโสมากน้อยแค่ไหน หลายสื่อ นสพ.ฉบับกระดาษยังอยู่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยากขึ้นทุกที ขณะที่บางสื่อปรับเป็นออนไลน์เต็มตัว
เป็นไปตามกาลเวลา ทุกอย่างในโลกเป็นเช่นนี้หมด ความรู้สึกสมัยก่อน ถ้าพี่เขียนคอลัมน์ให้ใคร ไม่ว่าเขียนอะไรมา เจอหน้า รปภ. สวัสดี ระดับ บก. ยิ้ม วันนี้เขียนดีจังเลย ทุกคนเห็นหมด …มาวันนี้ เขียนคอลัมน์ให้ใคร ต้องโทรบอกว่าเขียนให้แล้ว เขาบอก พี่ส่งหนังสือให้หนูได้ไหม…เราเล็กลง…มันเป็นเรื่องของความรู้สึก ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปแต่เข้าใจได้
สมัยก่อนใครเดือดร้อน หัวขโมยถูกตำรวจซ้อมด้วยการบีบไข่ จนโตเท่าลูกส้ม พี่เป็นรีไรเตอร์นั่งรับร้องทุกข์มากที่สุดเพราะมีใจ ทำจนเบื่อจะทำ รู้สึกว่าทุกข์ร้อนของแผ่นดินอยู่กับตัวเอง จดหมายวันหนึ่งมาเป็นสิบๆ ฉบับ เราช่วยเขาได้
มา ณ วันที่มีออนไลน์ มีโซเชียล แท็กซี่สามารถตะโกนแฉใครก็ได้ ตำรวจกลัว ทุกคนเป็นสื่อ ทุกคนใหญ่เท่ากู ขอยืนยัน พูดด้วยหัวใจไม่ได้พูดด้วยสำนวน คือ ดีใจว่าพ้นอกกูไปแล้ว ไม่ต้องแบกทุกข์แล้ว ทุกคนช่วยตัวเองได้แล้ว
พี่เป็นคนทำข่าววัลลีขึ้นไทยรัฐ เกรียวกราว ดังใหญ่โต วัลลี ณรงค์เวทย์ เด็กหญิงยอดกตัญญู ต่อมามีการเอาไปทำเป็นหนัง 3 ตอน เรื่องแบบนี้ทำมานับไม่ถ้วน รู้สึกว่าเราเป็นนักบุญ แอบมาคุยด้วยความภูมิใจ แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของเรื่อง ไม่เผลอ ถ้าไปเผลอเป็นเจ้าของเรื่อง จะเหนื่อยไปทุกข์กับเขา สมมุติ ปั้นใครมา ไม่เล่า วันนี้เรื่องเหล่านั้น พ้นอกไปแล้ว ขอพูดจริงๆ นะ ดีใจที่สังคมเปลี่ยนไปเป็นโซเชียล ทุกคนช่วยตัวเองได้
ย้อนกลับไปยุคก่อนหน้านี้ สยามรัฐคือตักศิลาของยอดนักเขียนของประเทศไทย เป็นต้นแบบในการสร้างนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ทั้งนั้น ไม่ว่านักเขียนแหววๆ อย่างสุวรรณี สุคนธา ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ช้าง-ขรรค์ขัย บุนปาน สุจิตต์ วงษ์เทศ
ขอยืนยันว่าพื้นฐานความรู้ที่ได้มาเป็นประกิตทุกวันนี้ ได้จากการอ่านงานของเครือสยามรัฐ อย่าง ชาวกรุง เล่มละ 10 บาท เราเป็นสามเณร เอาตังค์ที่ไหน ไม่มีตังค์ สัปดาห์วิจารณ์ไม่ต้องพูดถึง ได้อ่านนักเขียนเยี่ยมยอดระดับ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ประมูล อุณหธูป ที่เขียนหนังสือได้ละเมียดละไม หวานซึ้ง สรุปว่า ได้แรงบันดาลใจและเรียนรู้จากสำนักตักศิลาสยามรัฐ
⦁รับได้ไหม ถ้าวันหนึ่งไม่มีหนังสือพิมพ์กระดาษ
ยังมั่นใจอยู่ข้อหนึ่งว่า หนังสือพิมพ์กระดาษจะต้องมีอยู่ วันนี้ไทยโพสต์ยังอยู่ แนวหน้าก็ยังอยู่ ไทยรัฐ มติชน จะเจ๊งไหม ชาติหน้าก็ไม่เจ๊ง เพราะคนยังต้องการสื่อกระดาษ ไม่ว่าจะจุดประสงค์อะไรก็ตาม
ไม่เชื่อว่าสื่อกระดาษจะเจ๊ง มันจะอยู่ด้วยความมั่นคงยืนยง แต่จำนวนน้อย สนองกลุ่มเป้าหมายหนึ่งซึ่งมีแน่นอน แม้ต้องตามไปหาคนอ่านแล้ว ก็เชื่อว่าสื่อกระดาษจะไม่เจ๊ง ต้องมีอยู่ในจุดๆ หนึ่ง
⦁ในฐานะนักอ่านตัวยงตลอดชีพผู้ใช้วรรณกรรมในงานเขียนคอลัมน์มากที่สุดคนหนึ่ง มองวงการหนังสือเล่มขณะนี้อย่างไร
พี่สุชาติ สวัสดิ์ศรี พูดว่า หนังสือในวันหน้า มันจะอยู่ในตู้ของเศรษฐี ถ้าเป็นเหล้า ไม่ใช่เหล้าขาว แต่เป็นเหล้าโรง เป็นไวน์ เชื่อว่ากระดาษมีที่ยืน วันนี้ ชื่นชมสำนักพิมพ์แสงดาวของจรัญ หอมเทียนทอง มาก หนังสือไหลมาพลั่กๆๆๆ เขาแค่รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายของตัวเองคือใคร สามเกลอของ ป. อินทรปาลิต พิมพ์ตั้งแต่ปี 2483 ยังอยู่เลย
สรุปคือ สื่อกระดาษมันก็อยู่ในจุดที่เหมาะสมกับอารมณ์ของคนในเวลาหนึ่ง ยุคสมัยหนึ่ง และยังเชื่อว่ามันยังไม่ตายไปจากโลกนี้ เพียงแต่เราจะย้อนไปอยู่จุดไหน
มติชนสอนให้เราอ่านหนังสือดี พิมพ์งานของ เสนีย์ เสาวพงศ์ เรื่องที่ดีจะอยู่ในออนไลน์ หรือจะอยู่ในกระดาษก็ตาม มันไม่ตาย กระดาษเป็นสิ่งบันทึกแบบหนึ่งที่ต้องมีเก็บไว้ ถามว่าอารมณ์วันนี้ อ่านนิยายในออนไลน์ เธออ่านมันส์ไหมล่ะ
ยืนยันว่ากระดาษไม่ตาย…อยู่ได้
หนังสือสยามพิมพการ มติชนทำดี มีประโยชน์มาก แม้จะเน้นเรื่อง (โรงพิมพ์) พระพิฆเนศ หรือมติชน ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ ยอมรับเลยว่า ช้าง (ขรรค์ชัย บุนปาน) คือตักศิลาเคลื่อนที่ในยุคต่อจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ถ้าไม่มีช้าง โลกวรรณกรรม โลกหนังสือไม่งอกงามเท่านี้ เขามีอารมณ์ทางกวี เป็นนักเขียนในตำนาน เห็นเขาก็ปลื้มนะ ยังตามกลอนในมติชนฉบับวันอาทิตย์อยู่
เด็กรุ่นใหม่บอก แหม! สุจิตต์ วงษ์เทศ พูดประวัติศาสตร์มันส์จังเลย ถ้าจะให้เบิ้ลคือ กูอ่านเขาตั้งแต่เด็กๆ เขาทำมาเยอะ ทั้งขุนเดช อะไรต่ออะไร เราตามอยู่ เขียนดี เรื่องดี สุดยอด คนประวัติศาสตร์แบบนอกกรอบนี่มันสุดยอด เรื่องคนไทย ต้องชำระประวัติศาสตร์กันใหม่ ของจริงมันสอนให้เราเรียนรู้ แล้วเดินไปข้างหน้าได้ถูกต้อง
หนังสือ เจ้านครอินทร์ เมืองสุพรรณ สร้างสรรค์อยุธยา ราชอาณาจักรสยาม อ่านแล้ว ซื้อเอง
ขรรค์ชัย-สุจิตต์ มีคุณูปการเหลือเกิน เรื่องแบบนี้พูดกันก่อนตายดีกว่า ตายแล้วพูดไม่ซึ้ง เขายิ่งใหญ่มาก
⦁คว้ารางวัลต่างๆ ประดับเส้นทางชีวิตมากมาย รางวัลใดสร้างความภาคภูมิใจสูงสุด
อารมณ์มนุษย์มันดีใจนะ มนุษย์อยู่ในกฎนี้หมดแหละ คำสรรเสริญ แต่ความที่แก่แล้ว พอได้รางวัลนี้ ชมัยภร แสงกระจ่าง เหมือนอ่านจริตกันถูก มาบอกว่า พี่ประกิต เราตกลงให้รางวัลศรีบูรพาพี่ ขอนะ อย่าปฏิเสธนะ เลยตอบว่า จะบ้าเหรอ แล้วจะทำตัวยังไง
ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน คือ ซ้ายจัดนี่หว่า แล้วไอ้กิเลน ไม่ใช่อย่างนั้น เปะปะไปหมด ซ้ายก็เข้า ขวาก็เข้า รักเขา แล้วก็เกลียดไปกับเขา เอาเกณฑ์อะไรมาให้รางวัลเรา ไม่เคยคิดเคยฝันว่าจะได้ สาบานนะ มองตัวเองอย่างตลกมาก เรามีจุดยืนแบบไม่ได้เป็นซ้าย ไม่ได้เป็นขวา มันจะเป็นปรัชญาของนักหนังสือพิมพ์ตัวจริงหรือเปล่าไม่รู้
แล้วด้วยไม่มีใครรักจริง และคงไม่มีใครเกลียดจริงสักเท่าไหร่ เพราะโลกมันแบ่งสองขั้วมานานแล้ว 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ ช่วงนั้นซ้ายขวาชัด แบ่งภาพกัน เป็นนักข่าวถูกส่งไปทำข่าว ซ้ายก็เข้า ขวาก็เข้า ก็เขาเป็นแหล่งข่าว
นักข่าวบ้านนอกจากยะลา ไม่มีดีกรี แค่มาปีแรกถูกส่งทำข่าวใหญ่ชนซ้ายชนขวา ข่าวม็อบ เป็นข่าวที่ใช้เนื้อสมองในการติดตามมาก ไม่รักจริงทำไม่ได้ ความที่มาจากบ้านนอก น่าจะหิวสถานภาพการเป็นนักข่าวกระมัง ทุกม็อบวางตัวพี่ไปทำหมด พอถาม ถูกมองหน้าเลย เพราะถามแสบ คนไม่ซ้ายไม่ขวา เวลาถามมันแสบนะ
ตอนได้รางวัลภาพยอดเยี่ยมจากมูลนิธิอิสรา อมันตกุล ของสมาคมนักข่าวฯ ปี 2518 จากข่าวจลาจลสนามกีฬาเชียงใหม่ 11 สิงหาคม รับจากมือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชย์ โก้นะ แต่ก็อึ้งๆ อยู่
ที่ดีใจคือ เขาให้เงินรางวัลหมื่นนึง แต่ปีนั้นต้องหารสอง เพราะได้ 2 คน ยอดเยี่ยม 2 รางวัล แบ่งคนละ 5 พัน สิ่งนักข่าวเหมือนกันทั้งโลก คือเงินเดือนน้อย ครั้งนั้นมีนักข่าวรุ่นพี่มาจ้องหน้า บอกว่าเขาเฝ้ามาเป็นปี นี่มา 6 เดือนได้รางวัลยอดเยี่ยม
อ้าว ก็เราขยัน รู้ไหมทำไมเล่าเรื่องนี้ ไม่ได้คุยว่าตัวเองเก่ง แต่นิสัยการทำงานของประกิตคือ ถ้าเอ็งทำ ข้าไม่ทำ อย่างเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 อยู่กัน 3 วัน 3 คืน พี่โทรเข้าโรงพิมพ์ บอกรีไรเตอร์และหัวหน้าข่าว ส่งคนไปดูท่าพระอาทิตย์คนหนึ่ง หลังธรรมศาสตร์กำลังถูกล้อมปราบ
ผมขอรับผิดชอบท่าพระจันทร์ พี่เป็นคนเดียวที่ยืนท่าพระจันทร์ คือถนนสายนั้นจนไปถึง ม.ศิลปากร ทั้งถนนมีคนนอนราบกับพื้น นักศึกษาที่ถูกจับถูกต้อนมานอนบนถนน คนหนึ่งถูกยิงล้มฟุบ พี่ได้ภาพนี้คนเดียว ต่อมาไม่กี่วันถึงรู้ว่าเขาตายต่อหน้า
⦁ช่วงที่ได้พบปะนักเขียน นักหนังสือพิมพ์รุ่นเดียวกัน อะไรคือประเด็นหลักในบทสนทนา
ถ้าเป็นรุ่นเก่าเจอหน้ากันก็มีความหลังต้องคุยกันนับไม่ถ้วน แต่พอดีไม่ได้อยู่ในกลุ่มสังคมกับใครนัก ก็อยากเป็นพี่ใหญ่เหมือนช้าง-ขรรค์ชัย บุนปาน นะ เรียกนักเขียนไปนั่งคุย แจกงบ พี่ไมตรี ลิมปิชาติ เคยบอก กิตๆ วันนั้น เราไปมติชนว่ะ (งานสมานมิตรฯ) เขาขอบัตรประชาชน เนื่องจากอายุเกิน 70 ช้างใส่ซองให้ 7,000 นักเขียนถ้าอายุ 50 ได้ 5,000 ไม่มาก แต่สะท้อนว่ามีใจให้นักเขียนด้วยกัน เพราะเขาเป็นนักเขียน ในโลกนี้มีนายทุนมากมายที่ไม่ใช่นักเขียน ขี่หลังนักเขียนทำมาหากินทั้งนั้น แต่ช้างไม่ใช่ มีความเข้าใจนักเขียนมากกว่า
⦁อาจเป็นคำถามซ้ำซากน่าเบื่อ แต่ขอถามถึงคำแนะนำต่อนักข่าวรุ่นใหม่ในฐานะ ‘รุ่นพี่’ ผู้อยู่ในอาชีพนี้มาค่อนชีวิต
ถ้าจะเรียนรู้อะไรก็เรียน สมัยพี่มันดิบๆ ถ่อยๆ เมื่อนั่งอยู่ไทยรัฐก็อยู่กับผู้ใหญ่ มีส่วนใช้วิชาบริหารจัดการ บางครั้งก็ใส่แว่นผู้บริหาร บางครั้งใส่แว่นขี้ข้า เราเรียนรู้มาหมด เลยสอนน้องทุกคนว่า เอ็งเก่งเข้าไว้นะ ถ้าเอ็งเป็นจอมยุทธ์ในฝีมือในงานที่ทำอยู่ ที่ไหนก็อยู่ได้ เวลาปลด เขาเลือกปลดคนท้ายแถว
กลอน เป็นอย่างหนึ่งที่ทำให้นักเขียนเหนือกว่านักเขียนธรรมดา วันนี้โรยราอับจนก็ใช้ลีลากลอนช่วย
พวกนักเขียน จินตนาการมันเลิศ แต่ถ้ามีคุณสมบัติของนักข่าวพลุ่งพล่านก็ไปในงานข่าว แต่นักข่าวเป็นนักเขียนที่ดีไม่ได้สักเท่าไหร่ และนักเขียนก็มาเป็นนักข่าวที่ดีไม่ได้สักเท่าไหร่ พี่เป็นใคร พี่ก็ไม่รู้หละ
น้องจ๋า เพื่อนจ๋า แกล้วกล้า เกรียงไกร ฝึกวิทยายุทธ์ให้เก่งเข้าไว้
โลกมันมีทางเดินเสมอขอให้เก่งในทางที่เดิน ทางเดินมีให้ทุกคน อยู่ที่ว่าจะรู้จักแสวงหาทางหรือเปล่า นี่คือคำแนะนำ