
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
นักท่องเที่ยวชาวจีน วัย 36 ปี ทำอาชีพแม่ค้าออนไลน์
สาวในชุดนักเรียนไทย กระโปรงยาวเลยเข่า โพสต์ท่าอย่างมั่นใจให้ช่างภาพเก็บบันทึกความน่ารักและสดใส ภายในสวนหลวง ร.9 ในกรุงเทพมหานคร
ชุดนักเรียนสีขาวปลอดของเธอ บนปกเสื้อมีริบบิ้นสีดำตัดขวาง เป็นภาพที่คนผ่านมาผ่านไป คงยิ้มอย่างเอ็นดูถึงความน่ารักสดใสของวัยรุ่นชั้นมัธยม
แต่หากเข้าไปพูดคุยกับเธอจะได้รู้ว่า เธอพูดภาษาไทยได้เพียงคำทักทายง่าย ๆ นั่นเพราะเธอเป็นนักท่องเที่ยวจีน และไม่ได้เป็นวัยรุ่นชั้นมัธยม แต่เป็นแม่ค้าขายของออนไลน์ ที่มีอายุ 36 ปีแล้ว
“ใส่ชุดนักเรียนไทยแล้ว มันทำให้รู้สึกบริสุทธิ์ผุดผ่อง รู้สึกเหมือนกลับไปเป็นสาวอีกครั้ง” เป้า เหวิน เยี่ยน บอกกับบีบีซีไทย
“มันทำให้ฉันรู้สึกอายุน้อยลงไป 10 ปี”
End of เรื่องแนะนำ
ชุดนักเรียนไทยกำลังเป็นแฟชันใหม่ยอดนิยม สำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยเฉพาะผู้หญิง ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย หากมองผิวเผิน แทบแยกไม่ออกเลยว่า เป็นนักเรียนไทย หรือนักท่องเที่ยวจีนกันแน่
กลุ่มนักท่องเที่ยวสาวจีน จะเข้าไปซื้อชุดนักเรียน พร้อมปักชื่อตนเองเป็นภาษาไทย ก่อนเดินทางไปถ่ายรูป ปักหมุดตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่อโพสต์ลงสังคมออนไลน์
เป้า เหวิน เยี่ยน อธิบายถึงที่มาของกระแสชุดใส่ชุดนักเรียนไทยว่า ได้แรงบันดาลใจมาจาก จวี จิ้งอี หรือ เสี่ยวจวี นักร้องนักแสดงหญิงชาวจีน อดีตสมาชิกวง SNH48 ที่โด่งดังจากบทบาท “นางพญางูขาว” ได้เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย เมื่อเดือน ก.พ. 2566
เธอได้ซื้อชุดนักเรียนไทย ปักชื่อเป็นภาษาไทยว่า “จวีจิ้งอี 991” ใส่ถ่ายรูปตามสถานที่ต่าง ๆ ใน กทม. และโพสต์ในสังคมออนไลน์ จนได้รับความสนใจจากผู้ติดตามชาวจีน
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
“มันทำให้ฉันรู้สึกอายุน้อยลงไป 10 ปี” เป้า เหวิน เยี่ยน
“นักแสดงดัง จวี จิ้งอี ใส่ชุดนักเรียนไทยแล้วถ่ายรูป… ฉันคิดว่ามันดูดีมาก” เป้า เหวิน เยี่ยน เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เมื่อเธอและเพื่อนจะมาเที่ยวในไทย จึงวางแผนซื้อชุดนักเรียนไทยมาถ่ายรูปบ้าง
ส่วนตัวแล้ว เธอชอบแต่งกายในชุดนักเรียนของชาติอื่น ๆ อยู่แล้ว ก่อนจะนำรูปที่เธอแต่งชุดนักเรียนญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศให้บีบีซีไทยดู
สิ่งที่เหนือความคาดหมาย นอกจากภาพถ่ายน่ารัก ๆ ในชุดนักเรียนแล้ว คือ การที่คนไทยหลายคนเข้ามาทักทายพวกเธอ และ “เรียกชื่อฉันตามชื่อที่ปักบนเสื้อ คนไทยเป็นมิตรมาก”
เจ้าของร้านขายชุดนักเรียนในย่านบางลำพู ที่รับปักชื่อให้นักท่องเที่ยวชาวจีน บอกกับบีบีซีไทยว่า กระแสแต่งชุดนักเรียนไม่ได้โด่งดังจาก จวี จิ้งอี เท่านั้น แต่ยังมาจากภาพยนตร์ไทยที่เข้าไปฉายในจีนอีกด้วย
“เขาดูซีรีส์ไทย (เด็กใหม่ 2) และหนังวัยรุ่น ‘สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่ารัก’ ที่มาริโอเล่นกับใบเฟิร์น อันนั้นดังมาก” เจ้าของร้านขายชุดนักเรียน อธิบาย “เขาก็เลยตามรอยหนังไทย ใส่ชุดนักเรียนตามในหนัง”
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
ปักชื่อภาษาไทยทับชื่อภาษาจีน
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
ปักชื่อตามต้องการ แต่ไม่ใช่ชื่อโรงเรียน
เวลานี้เป็นช่วงปิดเทอมในไทย สำหรับร้านขายชุดนักเรียนแล้ว นักท่องเที่ยวจีนที่นิยมเข้ามาซื้อชุดไปถ่ายรูป ถือเป็นโอกาสสร้างรายได้ แต่เจ้าของร้านก็ยอมรับว่า วันหนึ่งจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาซื้อชุดไม่ถึง 10 ราย
“เข้าร้านไหนก็เหมือนกัน แบบที่เขาซื้อก็คือแบบธรรมดาทั่วไป มีขายทุกร้าน ซื้อแค่ชุดและปักชื่อทับศัพท์ชื่อจีนเขา”
ภาพกลุ่มสาวชาวจีนวัยสดใส สวมชุดนักเรียนไทย เดินไปมาในย่านท่องเที่ยวของ กทม. กลายเป็นภาพที่เริ่มเห็นมากขึ้น และกลายเป็นข่าวที่สื่อมวลชนไทยให้ความสนใจ หลังชุดภาพถ่ายนักท่องเที่ยวจีนในชุดนักเรียนไทยที่บีบีซีไทย และสำนักข่าวออนไลน์อีกหลายสำนัก นำไปเผยแพร่แล้วได้รับการแชร์ต่อไปอย่างกว้างขวาง
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย แสดงความเห็นว่า “นี่แหละเสน่ห์ของชุดนักเรียนไทย” “น่ารักมาก” และคอมเมนต์เชิงบวกอีกมาก
แต่ก็มีการตั้งคำถามว่า ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวจีนอยากใส่ชุดนักเรียนไทย แต่มีนักเรียนไทยจำนวนไม่น้อย ที่อยากให้ยกเลิกระเบียบการแต่งกายในชุดนักเรียน
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
กลุ่มนักท่องเที่ยวจีน แต่งชุดนักเรียนถ่ายรูป
เมื่อปี 2563 ได้เกิดแฮชแท็กที่กลายเป็นเทรนดิงอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ คือ #1ธันวาบอกลาเครื่องแบบ มาจากการรณรงค์ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “นักเรียนเลว” เรียกร้องให้ยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงมานานแล้วในสังคมไทย
นายลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ หนึ่งในแกนของนำกลุ่มนักเรียนเลว อธิบายว่า “ไม่ได้ต้องการให้ยกเลิกการใส่เครื่องแบบ แต่ต้องยกเลิกการบังคับใส่เครื่องแบบ เพื่อให้เลือกได้อย่างเสรี ใครไม่อยากใส่ก็ไม่ต้องใส่ ใครอยากใส่ก็ให้ใส่”
ด้าน นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในเวลานั้น ประกาศว่าจะไม่ยกเลิกเครื่องแบบนักเรียนโดยเด็ดขาด เพราะการแต่งกายในชุดนักเรียน เป็นการแยกระดับการศึกษาของนักเรียนแต่ละชั้น และชุดนักเรียนเป็นเครื่องหมายแยกบุคคลทั่วไปกับนักเรียน ทำให้เกิดความเป็นระเบียบ
บีบีซีไทย ถาม เป้า เหวิน เยี่ยน ถึงประเด็นนี้ ซึ่งเธอตกใจที่ทราบว่า นักเรียนไทยบางส่วนไม่อยากใส่ชุดนักเรียน เพราะเธอมองว่า ชุดนักเรียนไทย “น่ารักดี”
“ชุดนักเรียนจีน ส่วนใหญ่จะใส่กางเกงขายาว” เธออธิบายถึงความแตกต่างของชุดนักเรียนในจีนที่เธอเคยใส่ กับชุดนักเรียนไทย “แต่ชุดนักเรียนหญิงไทยใส่กระโปรง ฉันคิดว่าใส่กระโปรงแล้วรู้สึกดีมากเลย”
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
บีบีซีไทยขอให้เธอลองโพสต์ท่าแบบที่อยากถ่ายลงโซเชียลมีเดีย
“น่าแปลกใจนะที่นักเรียนไทยบางคนไม่อยากใส่ชุดนักเรียน เพราะชุดนักเรียนไทยดูดีมากเลย”
อย่างไรก็ดี เป้า เหวิน เยี่ยน ยอมรับว่า นักท่องเที่ยวจีนมีการพูดคุยกันด้วยความกังวล หลังมีทนายความไทยคนหนึ่ง เตือนว่า ถ้าพวกเขาใส่ชุดนักเรียนแล้วจะเสี่ยงถูกปรับเงิน
ทนายคนดังกล่าว คือ รัชพล ศิริสาคร ที่โพสต์คลิปเตือนเมื่อ 7 มี.ค. ว่า คนที่ไม่ใช่นักเรียนแล้วแต่งชุดนักเรียน จะเสี่ยงถูกปรับเงิน 1,000 บาท ตาม พ.ร.บ. เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551
ต่อมา นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงคำเตือนปรับเงินนักท่องเที่ยวใส่ชุดนักเรียนไทยว่า อยากให้มองที่เจตนา ถ้าใส่เพื่อการท่องเที่ยว ถือเป็นเรื่องดี ไม่สร้างความเสียหาย กลับกัน กระแสลักษณะนี้ จะช่วยให้ชุดนักเรียนไทยกลายเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ได้
“ส่วนจะเป็นการสร้างความเข้าใจผิดหรือไม่นั้นหากนักท่องเที่ยวใส่ในสถานที่อโคจร ตอนนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีการใส่ชุดนักเรียนไปเที่ยวในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม มองว่าเรื่องดังกล่าวก็เหมือนกับที่เราไปต่างประเทศก็อยากจะใส่แฟชั่นตามความนิยมของประเทศนั้น เช่น ในประเทศญี่ปุ่น ก็มีแฟชั่นชุดนักเรียนญี่ปุ่น เป็นต้น ดังนั้น การที่นักท่องเที่ยวใส่ชุดนักเรียน ก็สามารถทำได้ ไม่เสียหายอะไร” นางสาวตรีนุช ระบุ
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
"ชุดนักเรียนไทยดูดีมากเลย”
© 2023 บีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก. อ่านเกี่ยวกับแนวทางของเราในการติดต่อกับลิงก์ภายนอก